การศึกษา
กรณีศึกษา ฟาร์มหมู
(มกราคม 2561) ปัจจุบันสถานการณ์หมูในประเทศไทยเจอกับปัญหาใหญ่ ผู้ประกอบการฟาร์มขาดทุนตลอดช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา จากภาวะหมูล้นตลาด(oversupply) จากต้นทุนค่าอาหาร วัคซีน Feed additives รวมถึงค่าแม่หมู ลูกหมู รวมเป็นต้นทุนการผลิตกว่า 55 บาท/กก. แต่ราคารับซื้อหน้าฟาร์มอยู่ที่ 40-44 บาท ในเขตตะวันตกของประเทศ
ปัญหาที่ว่านี้อาจจะทุเลาลงจากราคาที่ปรับขึ้น 2-4 บาท ในพระที่ผ่านมา เพื่อรองรับการบริโภคในเทศกาลตรุษจีน เราคงต้องรอดูกันว่าสถานการณ์ตลาดจะเป็นอย่างไร? ราคาจะขึ้นแล้วยืนได้ต่อหรือไม่?
สถานการณ์หมูที่เวียดนามมีปัญหาบางส่วนใกล้เคียงกับบ้านเรา หมูหน้าฟาร์มราคาประมาณ 40 บาท จากเมื่อก่อนที่มีกำลังการผลิตสูง เพราะสามารถส่งออกหมูให้กับประเทศจีน ผู้บริโภคใหญ่ของโลก แต่เมื่อประเทศจีนปฏิเสธที่จะนำเข้าหมูจากเวียดนามอย่างกระทันหัน หมูที่ผลิตออกมาก็ล้นตลาด(oversupply) รวมถึงมีการนำเข้าชิ้นส่วนจากสหรัฐอเมริกา ราคาหมูหน้าฟาร์มจึงตกต่ำตั้งแต่นั้นมา
วันนี้เรามาดูกรณีตัวอย่างในการปรับตัวของฟาร์ม Tan Uyen ที่ยังอยู่ได้แม้ในสถานการณ์ราคาหมูตกต่ำ ฟาร์มนี้เป็นฟาร์มผลิตและเลี้ยงหมูขุนเอง(Farrow-to-finish) ขนาด 1,200 แม่ ไม่เล็กแต่ก็ไม่ถึงกับใหญ่มาก เป็นฟาร์มที่มีนวัตกรรม คิดค้นสิ่งใหม่ใช้กับฟาร์มตัวเองอยู่เสมอ ทดลอง ออกแบบและสร้างกรงยืนที่มีขนาดที่เหมาะกับฟาร์ม มีขนาดใหญ่กว่าแบบมาตรฐานทั่วไป
โดยที่ฟาร์มคาดการณ์ไว้ว่าสถานการณ์ราคาตกต่ำจะเป็นแบบนี้อีกนานจึงเลือกที่จะลดแม่พันธุ์ลงโดยทยอยขายแม่คัดทิ้ง และปัจจุบันรักษาปริมาณแม่พันธุ์ไว้ที่ 600 แม่ เพื่อลดการขาดทุน รักษาเงินสำรองไว้ เพื่อรอตลาดพร้อมและตั้งใจจะกลับมาเลี้ยงที่ 1,200 แม่เท่าเดิม แต่ยังคงรักษาผลผลิตให้ดี ลดความเสี่ยงต่อโรคที่จะเข้ามา ป้องกันการขาดทุนเพิ่มจากความเสียหายได้อีก
'บทความนี้เป็นเพียงกรณีฟาร์มตัวอย่าง ไม่ได้ต้องการสนับสนุน หรือไม่สนับสนุนการลดปริมาณแม่พันธุ์' ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของฟาร์ม และมุมมองถึงราคาในอนาคต ถ้าราคากลับมาดีเร็ว ฟาร์มที่ได้ประโยชน์ก็คือฟาร์มที่รักษาปริมาณหมูไว้เท่าเดิม แต่ถ้าราคายังแย่แบบนี้อีกนาน ฟาร์มที่จะประคับประคองไปได้ ก็คือฟาร์มที่จำกัดการขาดทุนได้ดี
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น